กฎหมายมรดก ตอนที่ 3 ว่าด้วยเรื่อง สินสมรส
เมื่อชายและหญิงได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายการสมรสนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์อันก่อให้เกิดความสัมพันธ์กันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทั้งทางด้านครอบครัว ทางด้านความสัมพันธ์หลังจากจดทะเบียนสมรส ทั้งทางด้านทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งทรัพย์สินนั้นแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้ 1.สินส่วนตัว และ 2.สินสมรส
1. สินสมรส (1.) ทรัพย์สินใด ๆ ที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส ซึ่งหมายถึง ทรัพย์สินอื่น ๆ อันนอกเหนือจากสินส่วนตัวไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าหากคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นได้รับมาก็ให้ถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น อาจจะเป็นเงินเดือน เงินโบนัส เงินรางวัลจากลอตเตอรี่ เป็นต้น หลัก ๆ เงินที่ทำมาหาได้รวมกันในระหว่างการสมรสถือได้ว่าเป็นสินสมรสรวมกันระหว่างสามีภริยา เช่นนี้หากสามีนำเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสที่เป็นสินสมรสไปซื้อ บ้าน ผ่อนคอนโด ซื้อที่ดิน หรือแม้กระทั่งรถยนต์ แต่ใส่ชื่อตนเองเป็นผู้ซื้อ หากจะขายหรือโอนให้ใคร ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสมรส ไม่เป็นสินส่วนตัว (2.) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม โดยพินัยกรรมนั้นต้องระบุให้ชัดเจนว่า ยกให้เป็นสินสมรสของใครกับใคร เช่น นาย ก ทำพินัยกรรม ยกทรัพย์สินให้เป็นสินสมรสระหว่าง นาย ข กับนาง ค เช่นนี้เป็นสินสมรส แต่ถ้าหากว่า นาย ก ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ นาย ข แต่เพียงผู้เดียวถือได้ว่าเป็นสินส่วนตัวมิใช่เป็นสินสมรสแต่อย่างใด (3.) ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลที่ได้จากสินส่วนตัว คำว่า “ดอกผล” ตามกฎหมายแล้วหมายถึงผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามทั่วไป หรืออาจเกิดขึ้นจากความผูกพันตามกฎหมายก็ได้ เช่น การนำสินส่วนตัวซึ่งเป็นบ้านเช่า ออกให้เช่า เงินค่าเช่าถือได้ว่าเป็นสินสมรส หรือ การนำเงินไปฝากธนาคาร ธนาคารให้ดอกเบี้ยมา ดอกเบี้ยนั้นถือได้ว่าเป็นสินสมรส เป็นต้น
ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี
•พบกันใหม่ในตอนที่ 4 ว่าด้วยเรื่องสินส่วนตัว ในจดหมายข่าวฉบับหน้าครับ