คุณกำลังอ่าน
รู้หรือไม่ พรบ.อบต. ฉบับใหม่ ลดจำนวน ส.อบต. เหลือหมู่บ้านละ 1 คน

สาระน่ารู้
รู้หรือไม่ พรบ. อบต. ฉบับใหม่ ลดจำนวน ส.อบต. เหลือหมู่บ้านละ 1 คน
องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี
วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2562
พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฉบับแก้ไขใหม่ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจาก พรบ. ฉบับเดิมหลายอย่าง โดยเฉพาะจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคลและราชการส่วนท้องถิ่น จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538 และมีฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในเวลาต่อมา พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ส่งผลให้มีการกระจายอำนาจสู่องค์กรประชาชนในระดับตำบลอย่างมาก โดยได้ยกฐานะสภาตำบลซึ่งมีรายได้ตามเกณฑ์คือ มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท ขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวได้ว่าการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลนี้เป็นผลผลิตหนึ่งของกระแสของสังคมที่ต้องการจะปฏิรูปการเมือง ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลจึงเป็นมิติหนึ่งของความพยายามในการปฏิรูปการเมืองโดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
องค์การบริหารส่วนตำบล มีความสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบท องค์การบริหารส่วนร่วมในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย
องค์การบริหารส่วนตำบล ในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้ประชาชนในชนบทได้มีโอกาสในการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ต้องการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมากขึ้น
เมื่อมีองค์การบริหารส่วนตำบล ก็ต้องมีโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 ประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งมีสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลแยกจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
ในที่เราจะขอกล่าวถึงสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 กำหนดให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หมู่บ้านละ 2 คน ในกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลใดมี 1 หมู่บ้าน ให้หมู่บ้านนั้นเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 6 คน และในกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลใดมี 2 หมู่บ้าน ให้องค์การบริหารส่วนตำบลนั้นมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหมู่บ้านละ 3 คน โดยทำหน้าที่ดังนี้ .
1. ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาตำบลเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบล
2. พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
3. ควบคุมการปฏิบัติงานของคณะผู้บริหารให้เป็นไปตามนโยบายและแผนพัฒนาตำบลตาม (1) และกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ
4. เลือกประธานสภา รองประธานสภา และเลขานุการสภา อบต.
5. รับทราบนโยบายของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลก่อนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเข้ารับหน้าที่ และรับทราบรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้แถลงไว้ต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นประจำทุกปี
6. ในที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีสิทธิตั้งกระทู้ถามต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้
7. สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจในการเสนอบัญญัติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาเกี่ยวกับการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโดยไม่มีการลงมติได้
8. สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจในการเลือกปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหรือสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลคนใดคนหนึ่งเป็นเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
แต่ในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 นี้ ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจาก พรบ. ฉบับเดิมหลายอย่าง โดยเฉพาะสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่กำหนดให้ ...
"...จำนวนสมาชิก อบต. เหลือเพียงหมู่บ้านละ 1 คน โดยให้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง หากหมู่บ้านใดมีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน หาก อบต. ใด มีเพียง 1 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิก 6 คน หากมี 2 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 3 คน หากมี 3 หมู่บ้านให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 3 คน หากมี 4 หมู่บ้านให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 1 คน และ 2 หมู่บ้านที่มีประชากรมากเพิ่มอีกหมู่บ้านละ 1 คน และหากมี 5 หมู่บ้านให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 1 คน และอีก 1 หมู่บ้านที่มีประชากรมากที่สุดเพิ่มอีก 1 คน
นอกจากนี้ ยังได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามและการกระทำการอันต้องห้าม ของสมาชิก อบต. และนายก อบต.
· นายก อบต. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
· นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้งแต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระไม่ได้
· ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลาสี่ปีก็ให้ถือเป็นหนึ่ง วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่งสองวาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลาสี่ปี นับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง
· ผู้บริหาร อบต. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยงานของรัฐ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาหรือ กิจการที่กระทำกับหรือให้แก่ อบต. นั้น หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่ อปท. อื่น และคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นตามกฎหมายเลือกตั้งฯ
อำนาจหน้าที่และประเภทรายจ่ายของ อบต.
· กำหนดให้ อบต. มีอำนาจหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย การดูแลการจราจรฯ
· กำหนดให้ อบต. มีอำนาจหน้าที่จัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และการฝึกอบรมให้แก่ประชาชน รวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนการดูแลและ พัฒนาเด็กเล็กตามแนวทางที่เสนอแนะจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
· กำหนดให้ อบต. จะนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อการฝึกอบรมหรือดูงานในต่างประเทศของผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นจะกระทำมิได้ ยกเว้นที่มีข้อตกลงหรือความร่วมมือฯ
· บทเฉพาะกาลกำหนดคุ้มครองการจ่ายเงินของ อบต. ที่จ่ายไปโดยสุจริตและมีหนังสือสั่งการ หรือระเบียบ มท. กำหนด
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.อบต. ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://bit.ly/37HZdxO