คุณกำลังอ่าน
จ.บึงกาฬ ออกมาตรการป้องกันโควิดระลอกใหม่ เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องรายงานตัวและกักตัว

ประชาสัมพันธ์
จ.บึงกาฬ ออกมาตรการป้องกันโควิดระลอกใหม่ เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องรายงานตัวและกักตัว
องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี
วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2564
จังหวัดบึงกาฬ ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ปิดพื้นที่เสี่ยง สถานประกอบการอื่นให้เข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการ พร้อมให้ลดขนาดกิจกรรมบุญประเพณี ประชุมสัมมนา และเลื่อนกิจกรรมวันเด็กไปอย่างไม่มีกำหนด ผู้ใดเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องรายงานตัวและกักตัว 14 วัน
ตามที่จังหวัดบึงกาฬได้ออกคำสั่งเรื่องปิดสถานที่และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ไปแล้วนั้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงมีการระบาดระลอกใหม่ขึ้นเป็นวงกว้างและจังหวัดบึงกาฬได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬจึงได้พิจารณาเพื่อยกระดับมาตรการในการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬให้เพิ่มยิ่งขึ้นและเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักของโรคติดเชื้อดังกล่าวนั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 (1) (2) และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2555 และข้อ 7 (1) ข้อ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) (ฉบับที่ 15) และ (ฉบับที่ 16) ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดบึงกาฬโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬตามมติที่ประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 จึงมีคำสั่งโดยมีข้อความดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ สนามชนไก่ สนามซ้อมชนไก่ และให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตงดออกใบอนุญาตการจัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่
ข้อ 2 ให้สถานที่ดังต่อไปนี้สามารถเปิดให้บริการประกอบกิจการหรือทำกิจกรรมได้โดยให้ผู้ควบคุมกำกับดูแลเจ้าของผู้จัดการอื่น ๆ และผู้เข้าใช้บริการหรือทำกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดตามเอกสารแนบท้ายคำสั่ง
2.1) สถานบริการหรือสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการในลักษณะคล้ายสถานบริการ ร้านคาราโอเกะ ร้านอาหาร สถานที่จำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นรวมถึงร้านอาหารในโรงแรมหรือในสถานที่พักอย่างอื่น 2.2) ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดนัดโคกระบือ ตลาดคลองถม ตลาดหาบเร่ ทั้งนี้ เฉพาะผู้ค้าขายที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ
2.3) ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์สโตร์ ร้านค้าปลีกและค้าส่ง ร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านค้าทั่วไป
2.4) โรงเรียน สถาบันการศึกษา สถานบันกวดวิชา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
2.5) ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านนวดร้านสปา
2.6) ร้านฟิตเนส โต๊ะสนุกเกอร์ สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ รวมถึงอุปกรณ์การออกกำลังกายกลางแจ้ง
2.7) ร้านเกมส์ ร้านอินเทอร์เน็ต
2.8) สถานที่ท่องเที่ยว
2.9) โรงแรมหรือสถานที่พักที่เรียกชื่ออย่างอื่น เช่น รีสอร์ต โฮมสเตย์ ทั้งนี้ให้ผู้ประกอบการจัดทำทะเบียนผู้เข้าพักเป็นประจำทุกวันเพื่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันโรคและรายงานให้อำเภอทราบเป็นประจำทุกวันก่อนเวลา 09.00 น.
2.10) บริเวณถนนข้าวเม่า (ริมโขง) ในส่วนรถค้าขายหรือสถานที่ชั่วคราวเพื่อจำหน่ายอาหารเครื่องดื่มให้งดการจำหน่ายอาหารเครื่องดื่มตั้งแต่เวลา 21.00 น. เป็นต้นไป และให้หน่วยงานหรือบุคคลผู้มีหน้าที่กำกับดูแลงดการให้ใช้พื้นที่และงดการจัดกิจกรรมทุกประเภทบริเวณถนนข้าวเม่า (ริมโขง) ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึงเวลา 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
ข้อ 3 การจัดกิจกรรมที่มีประชาชนเป็นจำนวนมากให้ลดขนาดของการจัดกิจกรรมให้เล็กลงเพื่อลดความหนาแน่นของผู้ร่วมกิจกรรมตามความเหมาะสมและต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดและขออนุญาตต่อนายอำเภอท้องที่ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ. )
3.1) การจัดอบรม ประชุม สัมมนา
3.2) การจัดงานสมรส การจัดงานตามประเพณี กิจกรรมทางศาสนา
3.3) กิจกรรมอื่น ๆ เช่นการบริจาคสิ่งของการจัดเลี้ยง
ข้อ 4 การจัดกิจกรรมวันเด็กให้เลื่อนการจัดกิจกรรมการฉลองวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2564 ออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ข้อ 5 ขอให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางเข้ามาในเขตพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นซึ่งหากเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองและต้องปฏิบัติตามมาตราการป้องกันโรคที่จังหวัดบึงกาฬกำหนดอันอาจทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและทำให้ต้องใช้ระยะเวลาการเดินทางมากกว่าปกติ
ข้อ 6 ประชาชนหรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดให้ไปรายงานตัว ณ สถานบริการสาธารณสุข กำนันผู้ใหญ่บ้าน หรืออาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ สำหรับประชาชนที่เดินทางโดยรถขนส่งสาธารณะประจำทางต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง ณ สถานีขนส่งในพื้นที่ปลายทางเพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประเมินอาการและความเสี่ยงในการติดเชื้อและให้กักกันตัวเองที่บ้าน 14 วัน หากพบว่ามีอาการผิดปกติขอให้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลใกล้บ้านและให้ข้อมูลที่แท้จริงกับแพทย์
ข้อ 7 ให้งดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬโดยให้นายจ้างสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวกำกับดูแลและควบคุมแรงงานต่างด้าวมิให้เคลื่อนย้ายเดินทางเข้า/ออกนอกเขตอำเภอ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานทั้งนี้ให้นายจ้างจัดทำทะเบียนลูกจ้างแรงงานต่างด้าวไว้ให้เป็นปัจจุบันเพื่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันโรค
ข้อ 8 ข้อแนะนำสำหรับส่วนราชการและประชาชนโดยทั่วไป จังหวัดบึงกาฬขอความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 (โควิด -19) อย่างเต็มขีดความสามารถ ประกอบด้วย การเว้นระยะห่างระหว่างกัน (S-Social Distancing) สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย (M-Mask wearing) หมั่นล้างมือ (H-Hang washing) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (T-Temperature check) และใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ (T-Thaichana) / หมอชนะตามรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
ข้อ 9 การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและจัดระเบียบให้เจ้าของหรือผู้จัดการตาม ข้อ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรครวมทั้งดำเนินการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ตามคำแนะนำเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตามที่ทางราชการกำหนดซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบแนะนำตักเตือนห้ามปรามหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายรวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สั่งปิดสถานที่นั้นเป็นการชั่วคราวเฉพาะราย
กรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เมื่อเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่ทางราชการกำหนดและจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งให้เปิดดำเนินการในสถานที่ดังกล่าวได้
อนึ่งเนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณะหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะจึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (ต) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
คำสั่งใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้ใช้คำสั่งนี้แทน
ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และอาจมีความผิดตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง