top of page

คุณกำลังอ่าน

ทำความรู้จัก องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก่อนไปเลือกตั้ง

สาระน่ารู้

ทำความรู้จัก องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก่อนไปเลือกตั้ง

องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563

ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้วันที่ 20 ธันวาคม 2563 เป็นวันเลือกตั้งนั้น วันนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี ได้รวบรวมสาระน่ารู้เกี่ยวกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่มีความใกล้ชิดประชาชน และเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนมาให้ท่านได้ทำความรู้จัก ก่อนเข้าคูหาไปเลือกตั้ง เลือกคนดี คนเก่ง เข้าไปบริหารท้องถิ่นของเรา

การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นรูปแบบการปกครองตามหลักการกระจายอำนาจ มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีโอกาสตัดสินใจเรื่องในท้องถิ่นเอง และมีอำนาจปกครองกันเอง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงกับความต้องการของชุมนุมนั้น ๆ โดยไม่ต้องอาศัยองค์กรจากส่วนกลางเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง

รูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย แบ่งออกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งโดยหลักทุกองค์กรจะมีการเลือกตั้งตามวาระของตัวเอง คือ ทุก 4 ปี แต่เนื่องจากมีการรัฐประหารของ คสช. ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องถูก “แช่แข็ง” ไว้ และเว้นว่างไปนานกว่า 6 ปี หรือบางพื้นที่เป็นเวลากว่า 8 ปี

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้วันที่ 20 ธันวาคม 2563 เป็นวันเลือกตั้ง

อบจ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความเกี่ยวพันและสำคัญกับชีวิตของคนในท้องถิ่นมากที่สุด อบจ. เปรียบเสมือนหัวหน้าห้องที่คอยดูแล บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับเพื่อนนักเรียนในห้อง ทั้งความใกล้ชิด และสนิทสนมของคนในพื้นที่ ย่อมทำให้การบริการสาธารณะด้านต่าง ๆ ตรงกับความต้องการของคนในท้องถิ่นนั้นได้อย่างแท้จริง ดังนี้

1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีจังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมอาณาเขตของทั้งจังหวัด

อบจ. มีโครงสร้างการบริหาร ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีสมาชิกสภาองค์การบริการส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจพิจารณาออกกฎระเบียบต่าง ๆ และพิจารณาการจัดสรรงบประมาณ

2. การได้มาซึ่งนายกอบจ.และ ส.อบจ. นั้นมาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยที่การเลือกนายก จะใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และ ส.อบจ. ใช้อำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง โดยแต่ละจังหวัดจะมี ส.อบจ. จำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น โดยนำมาถัวเฉลี่ยแล้วแบ่งเขตเลือกตั้งภายในอำเภอนั้น ๆ ได้แก่
จำนวนราษฎร ไม่เกิน 500,000 คน มีจำนวน ส.อบจ. 24 คน
จำนวนราษฎร เกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1 ล้านคน มีจำนวน ส.อบจ. 30 คน
จำนวนราษฎร เกิน 1 ล้านคน แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านคน มีจำนวน ส.อบจ. 36 คน
จำนวนราษฎร เกิน 1.5 ล้านคน แต่ไม่เกิน 2 ล้านคน มีจำนวน ส.อบจ. 42 คน
จำนวนราษฎร เกิน 2 ล้านคนขึ้นไป มีจำนวน ส.อบจ. 48 คน

นอกจากนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกอบจ.และ ส.อบจ. ไม่จำเป็นต้องมีสังกัดพรรคการเมืองเหมือนกับการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้สมัครสามารถลงเลือกตั้งได้อย่างอิสระ รวมถึง ตัวผู้สมัคร ส.อบจ.เองก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสังกัดของผู้สมัครนายกอบจ.อีกเช่นเดียวกัน

3. ภารกิจของอบจ. คือ การจัดทำบริการสาธารณะให้กับคนในท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่การดูแลถนน เส้นทางคมนาคมต่าง ๆ สาธารณูปโภคทั้งการประปา ไฟฟ้า ไปจนถึงการสนับสนุนด้านการศึกษาและบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีเพื่อเป็นรายได้

4. รายได้หลักของอบจ. มาจากการเก็บภาษีต่าง ๆ ในจังหวัด เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย เป็นต้น รวมถึงเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลในทุกปีงบประมาณ โดยงบประมาณดังกล่าวจะต้องถูกนำมาจัดสรรเพื่อนำไปพัฒนาจังหวัดในด้านต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน

5. นายกอบจ. มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในส่วนของ ส.อบจ. ก็มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้งเช่นเดียวกัน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ข่าวล่าสุด

34454766_2096730587317558_42178280899309

องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี

114 หมู่ 1 ตำบลคำนาดี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ 38000

โทรศัพท์ 0 4249 0420

bottom of page