top of page

คุณกำลังอ่าน

ทำความเข้าใจและข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

สาระน่ารู้

ทำความเข้าใจและข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2563

หลายคนสอบถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลมาหลายประเด็น วันนี้ อบต.คำนาดี ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้อ่าน ทั้งนี้ทั้งนั้น หากท่านมีประเด็นข้อสงสัยเพิ่มเติม ท่านสามารถสอบถามได้ที่ กกต.

การปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การที่รัฐบาลกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ตัดสินใจเลือกผู้แทนของตน เขาไปทำหน้าที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น มีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาการเงินและการคลัง ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐและบทบัญญัติของกฎหมาย

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก มีขนาดเล็กและอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบท ซึ่งจัดตั้งโดยประกาศกระทรวง
มหาดไทย เพื่อดูแลและจัดทำบริการสาธารณะแก่ประชาชนในหมู่บ้านตำบล มีฐานะเป็นนิติบุคคล


● ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นได้มาอย่างไร?

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บัญญัติให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผู้บริหารท้องถิ่น (นายก อบต.) และสมาชิกสภาท้องถิ่น (ส.อบต.) เป็นผู้มีหน้าที่ในการดำเนินการ โดยทั้งนายก อบต. และ ส.อบต. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ดังนั้น การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่แทนเราทั้งในด้านบริหารและด้านนิติบัญญัติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งก่อนตัดสินใจเลือกจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์และนำมาซึ่งความเจริญและสามารถแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการได้มาซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น นั้น นายก อบต. และ ส.อบต. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยมีที่มา ดังนี้
· นายก อบต. ใช้เขตตำบลเป็นเขตเลือกตั้ง
· ส.อบต. ใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่หมู่บ้านใดมีราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มี
พื้นที่ติดต่อกัน และรวมกันแล้วมีราษฎรถึง 25 คน เป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน


● สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีจำนวนเท่าใด?

ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เขตเลือกตั้ง (หมู่บ้าน) ละ 1 คน
หาก อบต. ใดมีเขตเลือกตั้ง (หมู่บ้าน) ไม่ถึง 6 เขตเลือกตั้ง (หมู่บ้าน)ให้สภา อบต. นั้น ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 6 คน โดย
ถ้ามี 1 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. 6 คน
ถ้ามี 2 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้ เขตเลือกตั้งละ 3 คน
ถ้ามี 3 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้ เขตเลือกตั้งละ 2 คน
ถ้ามี 4 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้ เขตเลือกตั้งละ 1 คนก่อนแล้วเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุด 2 เขตเลือกตั้งแรกเขตเลือกตั้งละ 1 คน
ถ้ามี 5 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คน และเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุดอีก 1 คน


● นายก อบต. และ ส.อบต. มีวาระการดำรงตำแหน่งกี่ปี?

· นายกองค์การบริหารส่วนตำบล มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปี ก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระและเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง
· ส่วนอายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มีกำหนดคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง


● นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทำหน้าที่อะไร?

กำหนดนโยบายให้ไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการ อบต. ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนา อบต. ข้อบัญญัติ ข้อบังคับของทางราชการ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีปลัด อบต. เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้าง อบต. และรองนายก อบต. และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของ อบต. ให้เป็นไปตามนโยบายและมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่นายก อบต. มอบหมาย


● คุณสมบัติของผู้สมัครนายก อบต. และ ส.อบต. มีอะไรบ้าง?

1. สัญชาติไทยโดยการเกิด
2. อายุของผู้สมัครนายก อบต. และ ส.อบต. ดังนี้
ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
ส่วนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
3. มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
4. คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายจัดตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นกำหนด ได้แก่ เรื่องวุฒิการศึกษาของผู้สมัครผู้บริหารท้องถิ่น ดังนี้
ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วน ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาตำบล สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา
สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ไม่ได้กำหนดว่าต้องจบการศึกษาหรือประสบการณ์การทำงานในระดับใด


● ลักษณะต้องห้ามของผู้รับสมัครเป็นนายก อบต. และ ส.อบต. มีอะไรบ้าง?

บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มีดังนี้
1. ติดยาเสพติดให้โทษ
2. เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย ทุจริต
3. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
4. ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ เป็นภิกษุสมเณร นักพรต หรือนักบวช, อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และเป็นผู้วิกลจริตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
5.อยู่ระหว่างถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราว(ใบส้ม) หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ )
6. ถูกจeคุกหรือคุมขังโดยหมายของศาล
7. เคยถูกจำคุกและพ้นโทษมาแล้วยังไม่ถึง5 ปีนับถึงวันเลือกตั้งยกเว้นความผิดประมาทหรือลหุโทษ
8. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำ ทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
9. เคยถูกศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งอันถึงที่สุดให้ยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้จำคุกตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
10. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิด ได้แก่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในราชการ หรือตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำ โดยทุจริตตามประมวลกฎหมาย ความผิดตามกฎหมายว่าดด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิตนำเข้า ส่งออกหรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือ เจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์ และกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงิน
11. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าทุจริตการเลือกตั้ง
12. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
13. เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
14. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการ ส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
15. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
16. อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
17. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่าร่ำรวยผิดปกติหรือทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
18. ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดตาม พรบ.การเลือกตั้งท้องถิ่น โดยพ้นโทษยังไม่ถึง 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
19. เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมาย มายังไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
20. อยู่ระหว่างถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
21. เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และจนมายังไม่ถึง 5 ปีนับแต่วันที่พ้นจากการถูกเพิถอนสิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง
22. เป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
23. เคยพ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียทั้งทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำ หรือจะกระทำให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นโดยมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทน หรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกันและยังไม่พ้น 5 ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
24. เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรีอันเป็นเหตุให้เสียหายอย่างร้ายแรงและยังไม่พ้น 5 ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
25. เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะทอดทิ้ง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจ หรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยหน้าที่และอำนาจ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ศรีตำแหน่ง หรือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแก่ราชการและยังไม่พ้น 5 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
26. ลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด


● ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.อบต. และ นายก อบต. ต้องยื่นหลักฐานแสดงการเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร?

ต้องยื่นหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี นับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้ง หากเป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ต้องทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษีไว้ด้วย

ข่าวล่าสุด

34454766_2096730587317558_42178280899309

องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี

114 หมู่ 1 ตำบลคำนาดี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ 38000

โทรศัพท์ 0 4249 0420

bottom of page