คุณกำลังอ่าน
อบต.คำนาดี เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ

ข่าวสาร อบต.
อบต. คำนาดี เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี
วันอังคารที่ 30 มีนาคม 2564
บุคลากร อบต.คำนาดี เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ จังหวัดบึงกาฬ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
วันที่ 30 มีนาคม 2564 นายณรงค์ เจริญไทสงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี มอบหมายให้คณะผู้บริหารและพนักงานส่วนตำบล ได้แก่ นายหมื่น วาสิงหล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี นางสราวลี เพ็งมีพรหมจักร ผู้อำนวยการกองคลัง และนายอรรถพล เมืองมิ่ง นักทรัพยากรบุคคล เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ จังหวัดบึงกาฬ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ณ ห้องประชุมสิรินธรวัลลี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ
นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธาน ได้กล่าวถึงการป้องกันการทุจริตว่า การทุจริตในสังคมไทยระหว่างช่วงเวลากว่าทศวรรษ ส่งผลเสียต่อประเทศอย่างมหาศาลและเป็น อุปสรรคสําคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในทุกมิติ รูปแบบการทุจริตจากเดิมที่เป็นทุจริตทางตรง ไม่ซับซ้อน อาทิ การรับสินบน การจัดซื้อจัดจ้าง ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นการทุจริตที่ซับซ้อนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การทุจริตเชิงนโยบาย การทุจริตข้ามแดนข้ามชาติ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่อาชญากรรมอื่น ๆ มากมาย และส่งผลกระทบทางลบในวงกว้าง
การทุจริตเป็นปัญหาสากลที่ทุกประเทศล้วนให้ความสําคัญ รวมทั้งประเทศไทย ประเทศไทยจึงได้ ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีเป็นลําดับที่ 149 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption : UNCAC) ที่ว่าด้วย ความร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตกลับคืน รวมทั้งการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทางกฎหมายเพื่อดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดอย่างสมบูรณ์
ประเทศไทยได้พยายามแก้ปัญหาการทุจริตในระดับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบูรณาการ ความร่วมมือให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยการดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริต ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2551 - 2555) และยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริตระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 - 2560) ซึ่งพบว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสังคมไทยมีผลในระดับหนึ่ง และ จําเป็นต้องดําเนินการอย่างต่อเนื่องด้วยยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรม ที่สามารถป้องกันและปราบปราม การทุจริตที่ทวีความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) จึงกําหนดวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริต ทุกรูปแบบอย่างเข้มแข็งทั่วทั้งสังคมไทย เพื่อให้เป็นประเทศที่มีมาตรฐานความโปร่งใสเทียบเท่าระดับสากล
สำหรับผลการจัดอันดับดัชนีรับรู้การทุจริตของไทย ที่จัดอันดับโดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) พบว่า ประเทศไทย ได้เพียง 36 คะแนนเท่าเดิม แต่ อันดับการทุจริตหล่นลงไปอยู่ที่อันดับ 104 จาก 180 ประเทศ การทุจริตคอร์รัปชันไทยแย่กว่าปี 2562 ถึง 3 อันดับ ขณะที่ ปี 2563 รัฐบาลที่มีการทุจริตน้อยที่สุดในโลกอันดับ 1 ยังคงเป็น ประเทศเดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ ได้คะแนนสูงสุด 88 จาก 100 คะแนน
ตั้งแต่ปี 2560–2563 อันดับการทุจริตของไทยลดลงมาถึง 8 อันดับ จากอันดับที่ 96 ในปี 2560 ลงมาอยู่อันดับที่ 104 ในปี 2563 สอดคล้องกับผลสำรวจของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ที่ระบุว่า อุปสรรคการลงทุนในไทยอันดับ 1 คือ การทุจริตคอร์รัปชัน
ประเทศไทยมีความพยายามแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้ร่วมกันสร้างเครื่องมือ กลไก และกำหนดเป้าหมายสำหรับการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในรูปแบบของ ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ได้สร้างให้ทุกภาคส่วนในสังคมเกิดความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามบทบาทและภาระหน้าที่ของตนเอง แต่เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยยังคงประสบปัญหาความรุนแรงในการทุจริต โดยเหตุปัจจัยที่ส่งผลให้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติฯ ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหรือประสบความสำเร็จได้เท่าที่ควร สืบเนื่องมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ รวมถึงการวิวัฒนาการของปัญหาการทุจริตซึ่งมีรูปแบบที่สลับซับซ้อน ยากต่อการตรวจสอบของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การปฏิบัติยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับฐานความคิดและสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกภาคส่วนของสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่องเป็นระยะยาว พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพรรคการเมือง มีการปฏิบัติตามเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริตให้ชัดเจน ซึ่งจะ
เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริตทั้งในส่วนของการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงเป็นการแสดงเจตจ านงการต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะต้องมีการเสริมสร้างความโปร่งใสในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ โดยการดำเนินงานของหน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะต้องปฏิบัติงานในเชิงรุก และมีความเด็ดขาดรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาการทุจริต เพื่อเป็นการสร้างให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของกระบวนการปราบปรามการทุจริต ซึ่งเมื่อการดำเนินงานดังที่กล่าวมาสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริงก็เชื่อว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศไทยให้ได้ค่าคะแนนตามเป้าหมาย ที่วางไว้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ในงานยังมีการบรรยายจากวิทยากรหลากหลาย เช่น นางภัทรวดี การะกิจ คลังจังหวัดบึงกาฬ ในหัวข้อเรื่อง การป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2564 ซึ่งในปีที่ผ่านมาจังหวัดบึงกาฬ มีผลการประเมินคะแนน ITA ร้อยละ 73.29 อยู่ในลำดับที่ 18 ของประเทศ โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะอยู่ 1 ใน 10