กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 8 ว่าด้วยเรื่อง การเล่นแชร์
การเล่นแชร์ผิดกฎหมายหรือไม่ ?
ประชาชนส่วนมากเข้าใจว่าการเล่นแชร์นั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ความจริงแล้วการเล่นแชร์ของประชาชนทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจนั้น ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น ประชาชนยังสามารถเล่นแชร์กันได้อย่างอิสระ แต่ต้องกระทำภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น โดยมีกฎหมายที่ควบคุม กำกับ ดูแลการเล่นแชร์ ได้แก่ พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ . 2534 ซึ่งได้บัญญัติคำนิยามของการเล่นแชร์ไว้ว่า หมายถึง การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
เล่นแชร์อย่างไร ? ไม่ให้ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534
การเล่นแชร์ (มาตรา 4) 1. บุคคลตั้งแต่ 3 คนตกลงเป็นสมาชิกวงแชร์
2. ส่งเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ 3. เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนการรับทุนกองกลางโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด
ข้อห้าม กรณีบุคคลธรรมดา (มาตรา 6) 1. เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง 2. มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันมากกว่า 30 คน 3. มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงมากกว่า 300,000 บาท
กรณีนิติบุคคล (มาตรา 5) ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์
กรณีอื่นๆ 1. ห้ามโฆษณาชี้ชวนประชาชนให้มีการเล่นแชร์ (มาตรา 9) 2. ห้ามใช้ชื่อธุรกิจหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า แชร์ หรือคำอื่นใดที่มีความหมายใกล้เคียงกัน (มาตรา 10)
บทลงโทษ - บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 6 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ - นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 5 ปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของทุนกองกลาง แต่ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท - ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ปรับไม่เกิน 50,000 บาท - ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และ ปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
•ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ